อุบัติเหตุและการเสียชีวิต ของ คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น

วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1996 เวตเทอร์ฮาห์นกำลังศึกษาอันตรกิริยาระหว่างไอออนปรอทและแคดเมียมกับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมดีเอ็นเอ ในการทดลองเธอใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรีเป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ 199
Hg นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ (NMR) ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์สารประกอบของปรอทในขณะนั้น[7]

เวตเทอร์ฮาห์นจำได้ว่าหยดไดเมทิลเมอร์คิวรีสองสามหยดกระเด็นจากปลายปิเปตต์ที่เธอใช้อยู่และตกลงบนถุงมือยางที่เธอใช้[8] เธอไม่คิดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น เนื่องจากเธอทำตามมาตรการป้องกันทุกประการที่มีกำหนดไว้[9] เธอทำความสะอาดพื้นที่ที่เธอทำงานก่อนที่จะถอดอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีออก[8] อย่างไรก็ตาม การทดสอบในภายหลังพบว่าไดเมทิลเมอร์คิวรีสามารถซึมผ่านถุงมือยางและผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ภายใน 15 วินาทีเท่านั้น[7] ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์หาปริมาณปรอทในเส้นผมซึ่งแสดงให้เห็นว่าปริมาณปรอทในเส้นผมเพิ่มขึ้นอย่างมาก 17 วันหลังได้รับสาร และเพิ่มถึงจุดสูงสุด 39 วันหลังได้รับสาร ก่อนที่จะลดลงอย่างช้า ๆ[8]

ประมาณสามเดือนหลังได้รับสาร เวตเทอร์ฮาห์นเริ่มมีอาการปวดท้องและผมร่วงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่อาการด้านประสาทวิทยาได้แก่การเสียความสามารถในการทรงตัวและการพูดที่ช้าลงเริ่มปรากฏในเดือนมกราคม ค.ศ. 1997 หรือห้าเดือนหลังได้รับสาร[8] ซึ่งที่ระยะนี้ การทดสอบพบว่าเธอมีภาวะปรอทในเลือดสูง[5][6][9] ปริมาณปรอทในเลือดและในปัสสาวะวัดได้ 4,000 µg L−1[7] และ 234 µg L−1 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าปริมาณขั้นต่ำที่ถือว่าเป็นพิษได้แก่ 200 µg L−1 ในเลือดและ 50 µg L−1 ในปัสสาวะ (ในคนปกติ เลือดและปัสสาวะจะมีปริมาณปรอทอยู่ 1–8 µg L−1 และ 1–5 µg L−1 ตามลำดับ)[8]

แม้ว่าแพทย์จะใช้คีเลชันเพื่อบำบัดพิษปรอทอย่างเต็มที่ก็ตาม อาการของเวตเทอร์ฮาห์นก็แย่ลงอย่างรวดเร็ว สามสัปดาห์หลังเริ่มปรากฏอาการทางประสาทวิทยา เธอเริ่มมีอาการคล้ายสภาพผักสลับกับอาการกระตุกอย่างรุนแรง[8] นักศึกษาคนหนึ่งของเธอเล่าว่า "สามีของเธอเห็นน้ำตาไหลบนหน้าเธอ ฉันถามว่าเธอรู้สึกเจ็บปวดไหม หมอบอกว่าดูเหมือนกับว่าสมองเธอไม่น่าจะรับรู้ความเจ็บปวดแล้ว"[9] เวตเทอร์ฮาห์นเสียชีวิตในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากได้รับสารปรอท[8]

การเสียชีวิตของเวตเทอร์ฮาห์นชี้ให้เห็นว่ามาตรการป้องกันในสมัยนั้น (ซึ่งเวตเทอร์ฮาห์นทำถูกต้องทุกประการ) ยังไม่เพียงพอสำหรับสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงอย่างเช่นไดเมทิลเมอร์คิวรี[8] องค์การอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐหรือ OSHA แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรีเท่าที่จะทำได้ และในกรณีที่ต้องใช้สารนี้ ผู้ใช้ต้องสวมถุงมือเคลือบพลาสติก (SilverShield)[10] นอกจากนี้ ได้มีความพยายามที่จะหาสารอื่นเพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ของปรอทแทนที่ไดเมทิลเมอร์คิวรี[11][12][13]

ใกล้เคียง

คาเรน คล่องตรวจโรค คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น คาเรน กรัยวิเชียร คาเรน กิลแลน คาเรน สปาร์ค โจนส์ คาเรน ม็อก คาเรน พิตต์แมน คาเรน อูห์เลนเบ็ค คาเรน สแทดท์เฟลด์ คาเรน ลอร์ด (นักกีฬาว่ายน้ำ)

แหล่งที่มา

WikiPedia: คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น http://articles.latimes.com/1997-06-12/news/mn-276... http://science.nationalgeographic.com/science/heal... http://chemistry.dartmouth.edu/graduate/graduate-a... http://www.dartmouth.edu/~toxmetal/home/tribute/ka... http://lippardlab.mit.edu/sites/default/files/docu... http://chemgroups.northwestern.edu/ohalloran/HgNMR... http://stemed.unm.edu/PDFs/cd/CLASSROOM_LAB_SAFETY... http://www.niehs.nih.gov/research/supported/srp/tr... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9614258 //doi.org/10.1021%2Fcen-v075n019.p007